Press ข่าววันที่ 9 พฤษภาคม 2568
- วันเผยแพร่
- ฮิต: 159
คณะรัฐนตรีมีมติให้เดือนพฤษภาคมเป็น “เดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month)” กรมสุขภาพจิตขานรับนโยบาย พร้อมขับเคลื่อน 6 มาตรการสำคัญเพื่อยกระดับสุขภาพจิตให้ครอบคลุมทุกช่วงชีวิต
วันนี้ (9 พฤษภาคม 2568) คณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต พร้อมประกาศให้เดือนพฤษภาคมเป็น “เดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month)” เพื่อยกระดับสุขภาพจิต สร้างการตระหนักรู้ในสังคมไทย และส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตในครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อน 6 มาตรการสำคัญเพื่อยกระดับสุขภาพจิตของประชาชนทุกช่วงวัย โดยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็น “เดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month)” เพื่อให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพจิต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว การสนับสนุนจากรัฐบาลในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้แก่สังคมไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการรับรู้ในระดับประเทศ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป ในการดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนรอบข้างอย่างจริงจัง ซึ่งในปีนี้สำหรับการเปิดกิจกรรม “เดือนแห่งสุขภาพใจ” ได้รับเกียรติจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้แนวคิด “สุขภาพใจเป็นเรื่องของทุกคน” ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า สุขภาพใจคือรากฐานสำคัญของการดำเนินชีวิต และการมีครอบครัวที่เข้าใจ รับฟัง และเป็นพื้นที่ปลอดภัย คือจุดเริ่มต้นของจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมชูหลักคิด ว่าการดูแลสุขภาพจิตควรเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันไม่ต่างจากการดูแลสุขภาพกาย และสนับสนุน
ให้เกิดการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตอย่างเปิดเผยในสังคมไทย โดยยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้สังคมไทยเข้มแข็งทั้ง
กายและใจ
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตจะขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ให้มีการดำเนินการเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยจะขับเคลื่อน “6 มาตรการเสริมสร้างสุขภาพจิตคนไทย” ได้แก่ 1. โปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Thai Triple -P) เน้นส่งเสริมพัฒนาการและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยผ่านกิจกรรมกลุ่มสำหรับพ่อแม่ 2. โครงการคัดกรองสุขภาพจิตในโรงเรียน (HERO) สนับสนุนให้ครูสามารถสังเกต คัดกรอง ติดตาม ส่งต่อ และดูแลสุขภาพจิตนักเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาที่มีความเสี่ยง 3. ระบบ Holistic Health Advisor ส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาเจ้าหน้าที่สามารถให้คำปรึกษาและดูแลสุขภาพจิตแก่บุคลากรในสถานประกอบการ 4. ศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิต ให้บริการทั้งแบบ on-site และ online เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตก่อนเกิดปัญหา 5. ระบบต่อ-เติม-ใจ สนับสนุนการดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัว ในกลุ่มวัยทำงาน และผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อความเครียดและภาวะซึมเศร้า โดยมีทีมผู้ช่วยดิจิทัลคอยให้คำปรึกษา และ 6. เปิดบริการแพลตฟอร์ม “สุขภาพจิต.com” เป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมทักษะในการดูแลสุขภาพจิต โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าถึงบริการสุขภาพจิตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต 37 แห่งในเดือนพฤษภาคมนี้ และขยายเป็น 340 แห่งภายในสิ้นปี เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตของประชาชนทุกช่วงวัย โดยมุ่งเน้นการร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตให้มีคุณภาพ เข้าถึงได้ง่าย เป็นมิตร และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในแต่ละช่วงวัยอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการส่งเสริมบทบาทของครอบครัวให้เป็นกลไกหลักในการรับฟัง พูดคุย เข้าใจ และดูแลสุขภาพจิตซึ่งกัน
และกัน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคมไทยที่เข้มแข็งทางจิตใจ มีภูมิคุ้มกันทางอารมณ์ และสามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
********************
9 พฤษภาคม 2568