press_170963.jpg

กรมสุขภาพจิต เผย สังคมไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับ “โรคติดเกม” สร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างเครือข่ายครอบครัวและครูประกาศเจตนารมณ์โดยจะรวมพลังทางสังคมในการดำเนินการป้องกันและควบคุมการบริโภคเกม

วานนี้ (16 กันยายน 2563) กรมสุขภาพจิตมอบหมายให้สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ดำเนินจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการสร้างความตระหนักผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเกมออนไลน์และการติดเกม จากสภาพปัญหาพฤติกรรมติดเกมที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย และก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ มากมาย สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ จึงได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ในการช่วยประเมินระดับความรุนแรงของภาวะติดเกม ซึ่งการประเมินพฤติกรรมติดเกมนี้ เป็นกระบวนการสำคัญและแนวทางในการวินิจฉัยเบื้องต้น  (baseline data) สำหรับบุคลากรการแพทย์ ที่สามารถช่วยแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ภาวะปกติ  ภาวะติดเกมระดับน้อย  ภาวะติดเกมระดับปานกลาง  ภาวะติดเกมระดับรุนแรง ก่อนนำไปสู่การพิจารณาวางแผนการรักษา และช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นที่มีความผิดปกติพฤติกรรมเล่นเกมในแต่ละระดับได้อย่างเหมาะสมในอนาคต โดยการดำเนินการในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. อีกด้วย 

นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันปัญหาเกมออนไลน์และการติดเกมเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน สำหรับในประเทศไทย จากการสำรวจของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในปีพ.ศ. 2556 พบว่า มีเด็กติดเกมส์มากถึง 2.5 ล้านคน จากจำนวนเด็ก 18 ล้านคนทั่วประเทศ  และในปีงบประมาณ 2560 พบว่าปัญหาพฤติกรรมเสพติดเกมส่วนใหญ่ เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 6-18 ปี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชนิดของเกม อาทิ เกมประเภท First Personal Shooting, MOBA และ SPORTS game competition เป็นหลัก โดยเฉลี่ยเด็กและวัยรุ่นใช้เวลาเล่นเกมนาน 5 ชั่วโมงต่อวัน และเล่นเกมแข่งขันต่อสู้ออนไลน์ 1-4 เกมสลับกันไป กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ การคุ้มครองเยาวชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาติดเกมของเยาวชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มติดเกม ที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและจะเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต  จึงได้มีการร่วมกำหนดประเด็นการรณรงค์ให้สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก คือ “เครียดได้ คลายเป็น เล่นเกมแต่พอดี” และได้มอบหมายให้ดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการคุ้มครองเยาวชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาติดเกมเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพบรรลุตามวัตถุประสงค์โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ  ที่ร่วมมือกันในการดูแลเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความตระหนักว่าสังคมไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับ “โรคติดเกม”ที่จะส่งผลกระทบต่อสมอง พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์โดยจะรวมพลังทางสังคมในการดำเนินการป้องกันและควบคุมการบริโภคเกมที่มีผลต่อสมอง พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน สร้างความตระหนักถึงผลเสียและเรียนรู้การใช้อย่างเหมาะสมแก่เด็กครอบครัว และครู สร้างระบบเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาให้เข้าถึงบริการ                      

            แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่ากรมสุขภาพจิต มีเป้าหมายที่จะยกระดับการดำเนินงานสุขภาพจิตวัยรุ่นและเยาวชน และส่งเสริมความรอบรู้และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบเกี่ยวกับเกมออนไลน์และการติดเกมให้แก่วัยรุ่นและเยาวชน รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กและเยาวชน โดยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการสร้างความตระหนักผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเกมออนไลน์และการติดเกมขึ้น ประกอบด้วย การบรรยายสถานการณ์การติดเกมในปัจจุบัน เวทีเสวนา“การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับเกมออนไลน์และการติดเกม”  การบรรยายเรื่อง ความรู้เรื่องเด็กติดเกม และ การพัฒนาเครื่องประเมินระดับความรุนแรงของภาวะติดเกม 

โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 16 กันยายน 2563  ณ โรงแรมมิโด พญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิต  บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บุคลากรหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคม มูลนิธิ และองค์กรเอกชน รวมทั้งสิ้น 50 คน   ความร่วมมือในครั้งนี้เป้าหมายที่สำคัญเพื่อช่วยกันดูแลส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพจิตที่ดีอันเป็นพื้นฐานสำคัญการเรียนรู้ ที่ให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เพราะถึงโลกและเทคโนโลยีจะต้องเปลี่ยนไป แต่การส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กไทยต้องแข็งแรง
*******16 กันยายน 2563