press 200164

 

กรมสุขภาพจิต เชื่อมั่นมาตรการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตจากผลกระทบโควิด 19 ขยายผลจากมติคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติเพื่อบูรณาการงานสุขภาพจิตไปยังทุกภาคส่วน

           กรมสุขภาพจิต พร้อมรับมือปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 เผยมาตรการการเฝ้าระวัง การติดตามดูแลช่วยเหลือ การเสริมสร้างวัคซีนใจ ร่วมกับมาตรการบูรณาการเพื่อการดูแลประชาชนแบบองค์รวม จะช่วยให้ประชาชนปลอดภัยจากปัญหาสุขภาพจิต ลดการสูญเสียจากปัญหาการฆ่าตัวตาย

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกรณีที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่า การระบาดของเชื้อโควิด19 จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียด ที่อาจนำไปสู่การคิดฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มที่มีโรคทางจิตเวชเรื้อรังอยู่เดิม กลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงการบริการ กลุ่มที่ขาดการรักษาด้านจิตเวชอย่างต่อเนื่อง ว่ากรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการมาตรการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตจากผลกระทบการระบาดโควิด 19 ภายใต้แผนการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดโรคโควิด 19 ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ ต้นปี 2563 โดยในส่วนการลดผลกระทบด้านสุขภาพจิต ได้ดำเนินการมาตรการสำคัญ คือ 1.การเพิ่มระดับการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหา ทั้งจากระบบการให้บริการปกติของสถาบันสุขภาพจิตและโรงพยาบาลจิตเวชของกรมสุขภาพจิต ระบบการสำรวจการรับรู้และภาวะสุขภาพจิตของบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนไทย และระบบการประเมินสุขภาพจิตตนเองด้วยโปรแกรม Mental  Health  Check  In 2.การระบุกลุ่มเสี่ยงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ควบคู่กับการดูแลช่วยเหลือจิตใจ ทั้งกระบวนการบำบัดแบบสั้น และการป้องกันภาวะสุขภาพจิตตามระดับความรุนแรง  3.การดำเนินงานเสริมความเข้มแข็งทางใจ ด้วย “วัคซีนใจ” คือการเสริมสร้างพลัง อึด ฮึด สู้ ในระดับบุคคล, สร้างพลังบวก พลังยืดหยุ่น พลังร่วมมือ ในระดับครอบครัว   และสร้างความรู้สึกปลอดภัย ความสงบ ความหวัง ความเห็นใจ โดยใช้ศักยภาพ และสายสัมพันธ์ ในระดับชุมชน และองค์กร  

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่ายินดีและเป็นการยกระดับมาตรการลดผลกระทบที่ป้องกันปัญหาการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายให้เข้มแข็งขึ้น คือ การที่คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ซึ่งมีนายอนุทิน  ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติในช่วงเดือนนี้ ให้จัดตั้งคณะทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลแบบองค์รวมทั้งด้านสุขภาพจิต สุขภาพร่างกาย และด้านเศรษฐกิจ  การเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิ สวัสดิการทางสังคมและสุขภาพพื้นฐาน การพัฒนารูปแบบการจัดการ และการพัฒนาระบบเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อการป้องกันปัญหา ซึ่งจากแนวทางและมาตรการดังกล่าว ประกอบกับความร่วมมือของทุกภาคส่วน จะทำให้การดำเนินงานด้านสุขภาพจิตครอบคลุมในทุกมิติมากขึ้นทั่วประเทศ โดยทางกรมสุขภาพจิตเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ประชาชนปลอดภัย จากปัญหาสุขภาพจิต ลดการสูญเสียจากปัญหาการฆ่าตัวตายจากผลกระทบการระบาดของโควิด 19 ได้ และขอให้ประเมินสุขภาวะผ่าน Mental  Health  Check  In เพื่อทราบระดับความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต และแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น   

**************************    20  มกราคม  2564