press 170565 02

 

กรมสุขภาพจิตเร่งดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่ทุรกันดาร ย้ำ สามารถพลิกกลับมาสมวัยใกล้เคียงเด็กในพื้นที่ปกติได้ หากได้รับการส่งเสริมต่อเนื่อง เตรียมขยายผลให้ครอบคลุมภายในปี 2569

วันนี้ (17 พฤษภาคม 2565) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเข้าร่วมรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนโรงงานยาสูบ 2 หมู่ที่ 3 บ้านสะป๋อง ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ว่า เด็กปฐมวัยในพื้นที่ทุรกันดารโดยเฉพาะบริเวณชายแดน เป็นกลุ่มขาดแคลนที่เสี่ยงต่อปัญหาขาดสารอาหารและนำมาซึ่งปัญหาพัฒนาการล่าช้า กรมสุขภาพจิตทำการสำรวจปัญหาพัฒนาการเด็กในพื้นที่ทุรกันดาร ในช่วงปี 2560 พบเด็กปฐมวัยมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าประมาณ 70% เมื่อเทียบกับพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่ปกติที่พบประมาณ 30% ในช่วงปี 2560-2563 กรมสุขภาพจิตจึงพัฒนาโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในพื้นที่ทุรกันดาร ทำกลุ่มกิจกรรมกับผู้ปกครองและเด็กปฐมวัย (Preschool Parenting Program; Triple-P) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดู ให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีทักษะการส่งเสริมพัฒนาการและอีคิวของเด็ก ให้เด็กเป็นเด็ก “เก่ง ดี มีความสุข" ผลลัพธ์ในพื้นที่ต้นแบบพบปัญหาพัฒนาการล่าช้าลดลงจาก 70% เหลือต่ำกว่า 30% กรมสุขภาพจิตจึงขยายผลโมเดล เพื่อสนองพระราชกระแส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ครอบคลุมโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารภายในปี 2569 โดยในปีการศึกษา 2564 กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 88 โรงเรียน 2,640 ครอบครัว ใน 32 จังหวัด

          แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดจากสถานการณ์โควิด-19 แต่พัฒนาการเด็กเป็นเรื่องรอช้าไม่ได้ เพราะโอกาสทองของการพัฒนาสมองเด็กอยู่ในช่วง 6 ปีแรก การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องจำกัดกิจกรรมทางสังคม ทำให้พัฒนาการเด็กปฐมวัยถดถอยลง และส่งผลต่อระดับสติปัญญาในระยะยาว กรมสุขภาพจิตจึงร่วมกับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัยผ่านการทำกลุ่มกิจกรรมกับผู้ปกครอง ผลพบว่า พัฒนาการเด็กปฐมวัยเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 50% อีคิวและทักษะการเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครองดีขึ้นชัดเจน สอดคล้องกับผลการสำรวจไอคิวเด็กในโรงเรียน ตชด. ที่พบว่า ไอคิวเฉลี่ยของเด็ก ป.1 ในโรงเรียนสังกัด ตชด. เพิ่มขึ้นจาก 88.18 ในปี 2559 เป็น 97.12 ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.94 จุด สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่เพิ่มขึ้น 4.55 จุด และยังสอดคล้องกับสถานการณ์ไอโอดีนในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นในหลายจังหวัด ซึ่งช่วยหนุนเสริมให้ไอคิวของเด็กไทย โดยเฉพาะในพื้นที่โรงเรียน ตชด. ดีขึ้นตามลำดับ ในปีการศึกษา 2565 นี้ กรมสุขภาพจิตร่วมกับกรมอนามัยและหน่วยงานด้านสาธารณสุข วางแผนขยายผลการดำเนินงานเพิ่มเติมอีก 89 โรงเรียน ให้ครอบคลุมทั้ง 50 จังหวัดในพื้นที่โครงการ เพื่อสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เด็กปฐมวัยในพื้นที่ทุรกันดารได้รับการส่งเสริมพัฒนาการและกลับมามีพัฒนาการสมวัยมากที่สุด

************* 17 พฤษภาคม 2565