press 110765 2

 

 

กรมสุขภาพจิต ขยายเครือข่ายจับมือ ม.ราชภัฏฯ 38 แห่ง ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมดำเนินการเชิงรุกดูแลจิตใจเยาวชน เพื่อพร้อมก้าวสู่การเป็นคนไทยคุณภาพ

           วันนี้ (11 กรกฎาคม 2565) กรมสุขภาพจิต เผยผลจากความเครียดที่เพิ่มขึ้นในนักศึกษา  สามารถส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในช่วงวัยทำงานตอนต้น พร้อมประสานความร่วมมือขยายผลร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” พร้อมติดตามและพัฒนาระบบเชื่อมโยงการดูแลจิตใจให้กับนักศึกษาอย่างต่อเนื่องและเท่าเทียม

        แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากผลการประเมินสุขภาพจิตคนไทยด้วย Mental Health Check In (MHCI) โดยกรมสุขภาพจิต พบว่าผลในช่วงครึ่งปีแรกเด็กและวัยรุ่นมีความเครียดสูง กล่าวคือในระหว่างวันที่1 ม.ค. – 30 มิ.ย. 2565 พบกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 34,579 คน มีปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ ได้แก่ มีความเครียดสูงเสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าทุกกลุ่มวัย ซึ่งสอดคล้องต่อเนื่องกับผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 ที่พบว่าวัยรุ่นและเยาวชน อายุ 15 - 24 ปี มีระดับความสุขต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มวัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ  ซึ่งผลจากความเครียดสะสมและไม่ได้รับทางออกจะส่งผลต่อการก้าวเข้าสู่วัยทำงานตอนต้น ประกอบกับข้อมูลจากการรายงานของสายด่วน 1323 โดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ปี 2564 ระบุว่า ปัญหาที่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-19 ปี โทรมาขอคำรับปรึกษา 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน 2. ปัญหาเรื่องการปรับตัว 3. ภาวะซึมเศร้า ซึ่ปัญหาเหล่านี้ทำให้เด็กและวัยรุ่นยิ่งพบความยุ่งยากในใช้ชีวิตและการเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ และเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ เพิ่มขึ้น จากข้อมูลดังกล่าวทุกฝ่ายต้องร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะถึงแม้เยาวชนเหล่านี้กำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และสามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้ แต่ในความเป็นวัยรุ่นเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเฉพาะ และมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นได้อยู่เสมอ ทั้งนี้โครงการ “คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” มีแผนที่จะขยายการช่วยเหลือไปสู่นักเรียนนักศึกษาในทุกระดับ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ และรวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งต่อไปอย่างต่อเนื่อง

        แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่ง โดยสนับสนุนองค์ความรู้และวิทยากรเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสถาบันการศึกษา โดยมีบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับบุคลากรในมหาวิทยาลัยให้สามารถดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจให้กับนักศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบอีกด้วย  การบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นการขยายผลการดำเนินงานที่จะต่อยอดไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง  สนับสนุนการจัดระบบบริการในการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาให้โรงพยาบาลคู่เครือข่ายในพื้นที่ร่วมกันดูแลช่วยเหลือและส่งต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิต และจะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาใช้การพัฒนาการทำงาน ติดตามประเมินผลเป็นระบบเพื่อความต่อเนื่องและยั่งยืนในการดำเนินงานระยะยาว

        กรมสุขภาพจิต จะร่วมติดตามผลการดำเนินงานความร่วมมือครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษาที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้จะได้รับการบริการและสามารถลดอุบัติการณ์ปัญหา เช่น ปัญหาความรุนแรง ปัญหาทางเพศ ปัญหาทางพฤติกรรม ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่วัยทำงานในอนาคตและเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป

                                                           ***********************     11 กรกฎาคม 2565