press 050865

 

กรมสุขภาพจิต แนะคนใกล้ชิดใช้หลัก 3 ส. สอดส่อง ใส่ใจรับฟัง พร้อมส่งต่อดูแลใจ เพื่อช่วยเหลือผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัว พร้อมเผยรับข่าวสารด้วยความตระหนักแต่ไม่ตระหนก

        วันนี้ (4 สิงหาคม 2565) กรมสุขภาพจิต ติดตามสถานการณ์ข่าวสารในสังคม พบว่าจากการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข่าวสารรวดเร็วและกว้างขวางมาก ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียมีโอกาสส่งผลกระทบต่อความรู้สึกได้รุนแรง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวการเสียชีวิตทั้งจากการฆ่าตัวตาย อุบัติเหตุและวินาศภัยต่างๆ  ประชาชนผู้รับทราบข่าวสารจึงควรต้องรับฟังอย่างตระหนักแต่ไม่ตระหนก ด้วยใจที่เป็นกลาง เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและส่งผลต่อการใช้ชีวิต  พร้อมเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนสังคมร่วมกันสอดส่องและให้กำลังใจกับครอบครัวของผู้ที่จากไป เพราะความสูญเสียกะทันหันก่อให้เกิดความเครียดจนนำไปสู่โรคซึมเศร้าและทำร้ายตัวเองได้

        แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวสารการสูญเสีย
ทั้งจากการทำร้ายตนเอง จากการประสบอุบัติเหตุและวินาศภัยต่างๆ  ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยในประเด็นดังกล่าวทั้งต่อครอบครัวผู้ที่สูญเสีย รวมไปถึงประชาชนผู้รับทราบข่าวสาร เพราะถึงแม้การติดตามข่าวสารและสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ดี แต่การติดตามข่าวสารที่มากไป โดยเฉพาะข่าวสารที่มีการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์แบบต่าง ๆ เช่น เศร้า กังวล โกรธเมื่อต้องประสบกับอารมณ์เหล่านี้ซ้ำ ๆ อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาทางกายมากขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ นอนไม่หลับ และอาการทางจิตใจ ได้แก่ อาการวิตกกังวลครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว ก้าวร้าว สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป เบื่อหน่าย หรือท้อแท้ ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุดที่กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วง คือครอบครัวของผู้สูญเสีย เพราะการจากไปของคนสำคัญในชีวิตโดยที่ไม่ทันได้กล่าวคำอำลา เป็นการสร้างความเศร้าโศกแบบเฉียบพลัน และไม่ทันได้เตรียมใจ บางรายมีอาการตกใจสุดขีด ไม่สามารถตั้งสติหรือใช้ชีวิตได้ดังเดิม คนรอบข้างคือกลไกที่สำคัญที่จะฉุดรั้งให้ครอบครัวของผู้เสียเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตได้ ซึ่งสามารถช่วยเบื้องต้นด้วยวิธีการ 3 ส. สอดส่อง ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อ โดย 1. สอดส่องเพื่อรับรู้ถึงสถานการณ์ และวิเคราะห์การช่วยเหลือ 2. ใส่ใจรับฟัง บางครั้งการได้ระบายเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาได้โดยง่าย  และ 3. ส่งต่อหากพบว่าอาการเศร้าโศกไม่ทุเลาก็สามารถส่งต่อด้วยการแนะนำบริการทางสุขภาพจิต เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือหน่วยบริการใกล้บ้านเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

        นายแพทย์ธิติ  แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในส่วนของผู้ที่รับฟังข่าวสารสามารถใช้หลัก 4 วิธีปฏิบัติเพื่อลดความตระหนกจากการรับฟังข่าวสารสะเทือนอารมณ์ 1. ให้ความสำคัญกับสติของตนเองทุกครั้งเมื่อต้องเสพข่าว สังเกตอารมณ์ของตนเองและผลกระทบจากอารมณ์นั้น และติดตามจิตใจของตนเองสม่ำเสมอในระยะยาว 2. จัดสรรเวลาติดตามข่าวสารอย่างพอดี
3. พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ หันเหความสนใจจากข่าวสารไปเรื่องอื่นบ้าง ละเว้นการรับรู้ข่าวสารที่ส่งผลต่อความเครียดชั่วคราว ไม่ละเลยหน้าที่ของตนเอง ทั้งการทำงาน การเรียน และการใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัว 4. การพักผ่อนและการผ่อนคลายความเครียด เช่น การนอน ออกกำลังกาย ฝึกโยคะ ทำสมาธิ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกหายใจคลายเครียด เป็นต้น

        อย่างไรก็ตามหากยังมีความวิตกจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ มีความเครียดรุนแรง สูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สามารถขอรับบริการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323
ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

              

                                                         ***********************                               4 สิงหาคม 2565