62B281F0 2CF5 451E A1FB BAD6B20CEC1C

 

 

ยอดผู้ติดตามข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตผ่านเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์พุ่ง ร่วมย้ำเน้นไม่เผยแพร่ภาพและข่าวรุนแรง

    วันนี้ 7 ตุลาคม 2565 ทันทีที่กรมสุขภาพจิตได้รับทราบเหตุการณ์สะเทือนขวัญในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงได้ขอความร่วมมือจากพี่น้องสื่อมวลและประชาชน ผ่านทางเฟสบุ๊คกรมสุขภาพจิตในการ “ไม่เผยแพร่ ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อภาพความรุนแรง” เพื่อไม่สร้างรอยแผล ตอกย้ำความรู้สึกเศร้าหมอง และถือเป็นการไว้อาลัยแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต อีกทั้ง กสทช ยังออกหนังสือถึงองค์กรวิชาชีพโทรทัศน์เพื่อตรวจสอบการนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความรุนแรงในจังหวัดหนองบัวลำภูอีกด้วย ทำให้เกิดปรากฎการณ์ความร่วมมือจากพลังสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชน มีการส่งต่อและสร้างกระแสความร่วมมืออย่างชัดเจนรวดเร็ว โดยในระยะเวลา เพียง 24 ชั่วโมง มียอดการเข้าถึงกว่า 1 ล้านวิว โดยมีการแชร์กว่า 5 หมื่นครั้งอีกด้วย

      แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากกรณีเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยต่อการนำเสนอข่าว หรือการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ ทั้งภาพจากสถานที่จริงและภาพจากการจำลองเหตุการณ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบความต่อรู้สึกของครอบครัวผู้ประสบเหตุและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ จึงได้ขอความร่วมมือประชาชนและสื่อมวลชน ไม่เผยแพร่ภาพความรุนแรงทำให้คนใกล้ชิด สังคม เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น หรือเป็นการทำให้สังคมเกิดความชาชินต่อความรุนแรง การไม่ส่งต่อภาพ คลิป เหตุการณ์ความรุนแรง เพราะจะยิ่งเป็นการย้ำให้เรารู้ว่าอย่าเผยแพร่ภาพ คลิป ข่าวสารโดยเน้นสีสัน ทำให้คนที่อยู่ใน ความทุกข์ ความเครียด แล้วไปกระตุ้นการก่อเหตุได้ ซึ่งนอกจากการขอความร่วมมือไม่ส่งต่อภาพความรุนแรงที่ได้รับความสนใจ มียอดแชร์จำนวนมาก เรื่องของโรค PTSD ก็ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งต่อและแชร์ข้อมูลกว่า 18,000 ครั้ง และข่าวการลงพื้นที่ ก็ได้รับแรงใจจากประชาชนผู้ติดตามอย่างล้นหลาม ไม่เพียงเท่านั้นจากการขอความร่วมมือดังกล่าว ยังได้รับการสนับสนุนจากทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดทำหนังสือถึงองค์กรวิชาชีพโทรทัศน์ เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบการนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการกราดยิงในจังหวัดหนองบัวลำภูอีกด้วย

    แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่ออีก สิ่งที่ควรปฏิบัติในการสื่อสาร ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ควรสื่อสารเป็นกลาง ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความห่วงใย เห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจในการเผชิญความทุกข์ร่วมกัน สามารถให้ข้อมูลช่องทางให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ทางอินเตอร์เน็ต บุคลากรหรือหน่วยงานที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ โดยข้อมูลความรู้จากแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องแก่สังคมเกี่ยวกับสัญญาณเตือนบุคคลที่อยู่ในภาวะเครียด กดดันที่มีแนวโน้มที่จะก่ออันตราย และการช่วยเหลือเบื้องต้น ที่สำคัญคือดารดูแลตนเองการ ผ่อนคลายตนเองจากความกดดันในการติดตามข่าวสาร เช่น ไม่ใช้เวลามากเกินไปในการรับชม เบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่นบ้าง และไม่ติดตามเพจที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ทั้งนี้การสัมภาษณ์ควรสอบถามมุมมองด้านบวก เช่น วิธีปลุกปลอบใจกันให้มีกำลังใจในกลุ่มผู้อยู่ในเหตุการณ์ สิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภาวะวิกฤต มีความตระหนักระมัดระวังการนำเสนอประเด็นเปราะบางทั้งด้านสิทธิมนุษยชน และในกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น เยาวชนและครอบครัว ผู้มีความเจ็บป่วยทางจิต ลดช่วงเวลาการเสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ให้น้อยลง ลดการเสนอข่าวแบบรายงานสดหรือเสนอข่าวแบบเร้าอารมณ์ทันทีที่เกิดเหตุ เพราะอาจกลายเป็นความตื่นเต้น อาจนำเสนอข่าวในรูปของแถบอักษรข่าววิ่ง เพื่อช่วยลดความสนใจในเหตุการณ์ซึ่งอาจมีผลทำให้ลดพฤติกรรมเลียนแบบ ที่สำคัญต้องระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะการจำลองเหตุการณ์ ซึ่งต้องไม่เกินกว่าความเป็นจริง มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ ไม่สร้างความตื่นตระหนกหรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

     โดยสิ่งที่ไม่ควรทำในการสื่อสาร หรือการรายงานสถานการณ์ คือ การให้ความสำคัญกับผู้ก่อเหตุ นำเสนอขั้นตอน เปิดคลิปเหตุการณ์วนไปวนมา รายละเอียดของพฤติกรรมหรือเหตุผลของการกระทำอย่างละเอียด ก่อน ระหว่างเหตุการณ์ ภายหลังเหตุการณ์ เช่น การเตรียมการ อาวุธที่ใช้ วิธีการในการต่อสู้ อาจกลายเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้เลียนแบบ ควรเน้นที่เหตุการณ์มากกว่าพฤติกรรมของผู้กระทำ ยิ่งกล่าวถึงน้อย โอกาสที่จะถูกเลียนแบบก็จะน้อยลง การเสนอภาพข่าวและภาษาที่สร้างความรู้สึกสยดสยองซ้ำเติมความทุกข์โศก หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การสัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุหรือญาติในลักษณะที่ทำให้เกิดอารมณ์ร่วม ซึ่งจะก่อความเครียด และรบกวนการฟื้นตัวทางจิตใจ และไม่นำเสนอข้อมูลความคิดเห็นที่มาจากผู้ที่ไม่มีอำนาจในการให้ข้อมูล หรือผู้ที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเหตุดังกล่าว โดยการคาดเดาเหตุการณ์ หรือไม่ได้รับการยืนยันจากผู้บัญชาการเหตุการณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในเหตุการณ์นั้น ๆ รวมไปถึงรายละเอียดการปฏิบัติภารกิจอันจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย    

       ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ทำให้เห็นถึงพลังสังคมของประชาชนและสื่อมวลชนที่ยับยั้งการนำเสนอสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะความสูญเสียในครั้งนี้เป็นบาดแผลฉกรรจ์สำหรับสังคมไทยของเรา วันนี้พลังของการสื่อสารได้ทำให้ทุกคนประจักษ์ว่าทุกคนในสังคมสามารถช่วยกันโดยการสื่อสารที่มีคุณภาพได้ และขอบคุณทุกความร่วมมือและการส่งต่อ ไม่เผยแพร่ ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อภาพความรุนแรง สร้างปรากฏการณ์ใหม่พื้นที่สื่อปลอดภัยเพื่อประชาชน


                                                                        7 ตุลาคม 2565