กรมสุขภาพจิต ย้ำ หากเจอผู้ต้องสงสัยมีความผิดปกติ คลุ้มคลั่ง ทำลายสิ่งของ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฝ่ายปกครองหรือตำรวจเพื่อส่งต่อรักษา วันนี้ (26 ตุลาคม 2565) กรมสุขภาพจิต ร่วมสร้างความเข้าใจในพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 หากพบเห็นผู้มีความผิดปกติทางจิต คลุ้มคลั่ง ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ทำลายสิ่งของ ต้องร่วมกันแจ้งเบาะแสแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคม แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีประเด็นความก้าวร้าวรุนแรงปรากฏในข่าวสารมากขึ้น และส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับผู้ป่วยทางจิตเวช จึงมีประเด็นที่ประชาชนสนใจอย่างมากในเรื่องพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ซึ่งมุ่งเน้นดูแลผู้ป่วยจิตเวช 2 กลุ่ม คือในกลุ่มผู้ที่มีภาวะอันตราย มีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อทรัพย์สิน หรือกลุ่มของผู้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ไม่เข้าใจความเจ็บป่วยของตัวเอง ไม่คิดว่าตัวเองต้องได้รับการรักษา โดยคนที่อยู่รอบข้างต้องแจ้งผู้รับผิดชอบคือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือโทรสายด่วน 191 โทรสายด่วน 1669 การแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมสถานการณ์ และส่งต่อสู่การรักษาในระบบสาธาณสุข ให้ได้รับการดูแลให้อาการดีขึ้นและติดตามการรักษาต่อเนื่อง พร้อมกลับสู่สังคม ทั้งนี้ผู้พบเห็นไม่ควรถ่ายภาพหรือวีดีโอ นำมาโพสต์ลงสื่อโซเชียล เพราะจะเป็นการสร้างความรังเกียจเดียดฉันท์ ตีตราผู้ป่วยและญาติ ซึ่งนอกจากเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแล้ว ยังผิดกฎหมายสุขภาพจิตอีกด้วย ดร.พญ.เบ็ญจมาส พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรมมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ยังมีสาระสำคัญเพื่อ “สร้างเสริมสุขภาพจิต” ป้องกัน และควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย รวมถึงคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและสังคม นอกจากนี้ พ.ร.บ. สุขภาพจิตฯ ยังครอบคลุมใน เรื่องการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการคุ้มครองในการปกปิดข้อมูล คุ้มครองจากการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อ คุ้มครองจากการทำวิจัย รวมทั้งได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสุขภาพ ในส่วนของผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีความเร่งด่วนในการรักษา คือ กลุ่มที่มีความเครียดสูง หูแว่ว เห็นภาพหลอน หลงผิดหวาดระแวง รู้สึกเหมือนมีอำนาจพิเศษเหนือคนธรรมดา แยกตัวจากสังคม พูดจาก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง อยากทำร้ายผู้อื่น สำหรับกฎหมายสุขภาพจิตนี้ ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่“ทุกคนในสังคม”จะเป็นผู้ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ป่วย”ที่ได้เข้ารับการรักษาตามมาตรฐานและได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่ออยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ “ผู้ดูแลผู้ป่วย”จะได้รับสิทธิการจัดหาความรู้ ส่งเสริมอาชีพและสิทธิอื่นๆที่จะทำให้ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไปได้ “พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ ตลอดจนผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน” จะได้รับความคุ้มครองกรณีนำผู้ป่วยมารับการรักษา และรวมทั้งที่สำคัญที่สุดคือ “ประชาชนในสังคม”จะปลอดภัยจากอันตราย ดังนั้นการที่ประชาชนทุกคนเข้าใจกฎหมายสุขภาพจิต ร่วมด้วยช่วยกันสังเกตตนเองและคนใกล้ชิด รวมทั้งการดูแลช่วยเหลือจากครอบครัวและชุมชน จะเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งที่จะลดปัญหาความรุนแรงในสังคมจากผู้ป่วยจิตเวชได้ *********************** 26 ตุลาคม 2565