Press 091165 ข่าว3

 

กรมสุขภาพจิตเฝ้าระวังภาวะเครียดในผู้ประสบภัยน้ำท่วม ชื่นชมคนไทย ปรับตัวปรับใจ สู้ภัยธรรมชาติ พร้อมแนะหลัก 5 สร้าง เพื่อดูแลใจหลังวิกฤต

      วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2565) กรมสุขภาพจิต เฝ้าระวังผลกระทบทางใจในผู้ประสบอุทกภัย ชื่นชมคนไทย เรียนรู้ปรับตัวได้ถึงร้อยละ 87.8 พร้อมเตรียมแผนดูแลแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังวิกฤติ 
      แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาประเทศประสบปัญหาอุทกภัย โดยครอบคลุมพื้นที่ถึง 57 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในวงกว้าง  แม้ตอนนี้สถานการณ์อุทกภัยหลายพื้นที่จะลดความรุนแรงลง แต่ยังมีอีก 12 จังหวัดที่ยังคงท่วมอยู่ในบางพื้นที่ ได้แก่  จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์  ร้อยเอ็ด  ศรีษะเกษ อุบลราชธานี ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี นครปฐม และนครศรีธรรมราช จากภัยธรรมชาติดังกล่าวทางกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ดูแลเพียงปัญหาสุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังให้การดูแลสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยข้อมูลกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 รายงานว่า ในระหว่างวันที่ 28 กันยายน ถึง 8 พฤศจิกายน มีผู้ประสบภัยที่ได้รับการดูแลสุขภาพจิต จำนวน 87,329 ราย สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ประสบภัยเหล่านี้ สามารถปรับตัวได้ถึง 87.8 % ส่วนที่เหลือยังพบภาวะเครียด 10.68 % ภาวะซึมเศร้า 1.56 % และมีผู้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 0.06% คือ 56 คน และผู้มีภาวะเสี่ยงเหล่านี้ได้รับการติดตามดูแลใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนว่าคนไทยมีการเรียนรู้และใช้ประสบการณ์ในอดีตมาปรับใช้เพื่อรับมือกับภัยพิบัติได้ดี หน่วยงานทุกภาคส่วนมีการบูรณาการเพิ่มขึ้นในการช่วยเหลือ เพื่อรองรับทั้งการดำรงชีวิตในแต่ละด้าน มีการดูแลทางกายและใจอย่างเชื่อมโยงกัน และเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 พบว่าประชาชนมีแนวโน้มสภาพความเข้มแข็งทางใจที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขในหลายด้าน เช่น ระบบบริการและส่งต่อ, ระบบการดูแลสุขภาพจิตในภาวะวิกฤติ หรือ MCATT ที่มีความพร้อมทั้งการจัดการและให้บริการดูแลจิตใจคนไทยในทุกอำเภอทั่วประเทศ รวมถึงความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและท้องถิ่น  อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ยังมีประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตรุนแรง ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัว สูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหายและมีผลกระทบต่อประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งมีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น บาดแผลทางจิตใจหลังเกิดภาวะวิกฤติ, โรคซึมเศร้า และวิตกกังวล รวมถึงปัญหาการใช้สุราและยาเสพติดได้ในภายหลัง  
      นายแพทย์ธิติ  แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าในการดูแลหลังจากภาวะวิกฤติ บุคคลใกล้ชิด ครอบครัว เพื่อนหรือบุคคลรอบข้าง และระบบบริการที่เกี่ยวข้องควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้ประสบภัยยังคงอยู่ในศูนย์อพยพ เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากทั่วโลกว่า เริ่มต้นช่วยเหลือเร็วที่สุด จะป้องกันปัญหาได้ดีที่สุด และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงหลังวิกฤติ ด้วยหลัก 5 สร้าง ได้แก่ 1. สร้างความรู้สึกปลอดภัย ทั้งในศูนย์อพยพและหลังจากที่กลับไปฟื้นฟูในชุมชน 2. สร้างกิจกรรมเพื่อลดความกังวลใจ ด้วยกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ 3. สร้างการมีส่วนร่วมให้มากที่สุดในการจัดการปัญหา 4. สร้างความผูกพันในระบบครอบครัวและชุมชน เช่น การให้เด็กได้อยู่กับครอบครัว หรือใช้พลัง อสม. และผู้นำชุมชนในการดูแลและจัดการกับปัญหาต่างๆ และ 5. สร้างกำลังใจ ก้าวข้ามอุปสรรคอย่างมีความหวัง เช่น การให้กำลังใจซึ่งกันและกันในชุมชน การจัดระบบความช่วยเหลือที่มาจากภายนอกให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นพลังในการฟื้นฟูครอบครัวและชุมชนต่อไป
    กรมสุขภาพจิต ขอร่วมเป็นกำลังใจให้คนไทยทุกคนใช้ความเข้มแข็งทางใจที่มีอยู่ก้าวผ่านเหตุการณ์นี้ไปพร้อมกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวทางเหล่านี้จะช่วยทำให้สามารถผ่านวิกฤตด้วยความเข้มแข็งมากขึ้น ลดปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาสังคมที่จะตามได้ หากพบปัญหาที่สุขภาพจิตที่ยากลำบาก ต้องการเข้ารับการปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่ Line Application Smile Connect หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
ร่วมก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤต 
บทเรียนสร้างความเข้มแข็งทางใจ ชุมชนร่วมพลัง รวมใจสร้างความเข้มแข็งให้สังคม
*******************
9 พฤศจิกายน 2565