IMG 7003

 

กรมสุขภาพจิต และ จุฬาฯ จับมือ สปสช. เพิ่มช่องทางประเมินสุขภาพใจผ่านปัญญาประดิษฐ์ DMIND
       วันนี้ (15 มีนาคม 2567) ปัจจุบันพบผู้ที่มีปัญหาภาวะซึมเศร้า รวมทั้งอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้น กรมสุขภาพจิต และ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช จึงร่วมมือกับ สปสช. เพื่อยกระดับการเพิ่มการเข้าถึงการประเมินภาวะซึมเศร้า และ ภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการการรักษามากยิ่งขึ้น

        นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตร่วมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ DMIND โดยการใช้ข้อมูลบริการสายด่วนสุขภาพจิต ว่าน้ำเสียงของเคสซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตายมีลักษณะอย่างไร รวมทั้งมีจิตแพทย์ร่วมพัฒนา เพื่อเปรียบเทียบความน่าเชื่อถือของการประเมินด้วยปัญญาประดิษฐ์ DMIND ให้ถูกต้องเมื่อเทียบกับการประเมินของจิตแพทย์ให้ได้มากที่สุด เมื่อถูกประเมินจากปัญญาประดิษฐ์ DMIND แล้วพบว่าเป็นเคสเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย และยินดีให้บุคลากรสาธารณสุขดูแล นักจิตวิทยาจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะติดต่อไปยังข้อมูลที่เคสเสี่ยงให้ไว้ เพื่อทำการประเมินและให้บริการให้การปรึกษา ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตาย จะส่งต่อไปยังปฏิบัติการดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป ความร่วมมือในวันนี้เป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะเป็นอีกก้าวของการพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการ การประเมินด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้เคสซึมเศร้าหรือมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย ได้รับบริการการดูแล อย่างรวดเร็วและครอบคลุมยิ่งขึ้น

      ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. ได้สนับสนุนกรมสุขภาพจิตในการจัดบริการ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ผ่านทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้สิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ให้การดูแลคนไทยทุกคน ทุกสิทธิ ไม่จำกัดอายุ ซึ่งการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 แต่ละครั้ง การดูแลและให้คำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะต้องใช้เวลา ด้วยข้อจำกัดนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการได้ ขณะที่ปัญหาทางจิตใจและสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า บางครั้งอาจต้องได้รับการประเมินและดูแลโดยเร็ว ซึ่งจากประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแอปพลิเคชัน DMIND เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ได้รับบริการ สปสช. จึงได้สนับสนุนการเข้าถึงบริการ โดยเพิ่มช่องทางการเข้ารับบริการผ่าน “ไลน์ สปสช.” ที่สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน ซึ่งประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิรักษาพยาบาล สามารถกด Click ที่รายการ “ตรวจสุขภาพใจ กับ DMIND” ด้านล่างขวามือ และทำตามขั้นตอนแนะนำง่ายๆ ที่แอบให้คำแนะนำ และจะได้รับการคัดกรองผ่านระบบ AI โดยในกรณีเป็นผู้มีความเสี่ยง ระบบจะติดต่อกลับโดยนักจิตวิทยาสำหรับผลจากการตรวจคัดกรองนี้ กรณีผู้ใช้สิทธิบัตรทอง หากพบว่าท่านเป็นผู้ที่มีเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าจำเป็นต้องทำการรักษา สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำของท่านได้ โดยแพทย์ที่หน่วยบริการประจำหลังทำการประเมินแล้วท่านมีภาวะที่จำเป็นต้องได้พบจิตแพทย์ ก็จะมีการส่งต่อเพื่อรับการดูแลต่อไป โดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ไม่เสียค่าใช้จ่าย

       รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เล็งเห็นว่าการนำเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์มาช่วยแก้ปัญหาจะทำให้กระบวนการเข้าถึงผู้ป่วยทำได้รวดเร็วขึ้นส่งต่อให้ผู้ให้บริการทางสุขภาพ จากหน่วยงานต่างๆได้อย่างเป็นระบบด้วยประสิทธิภาพที่ดีซึ่งความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์นทางคณะแพทยศาสตร์ได้มีโอกาสพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยนวัตกรรมและกำลังคน ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์มาหลายโครงการในเวลาหลายปีที่ผ่านมา แอปพลิเคชัน DMIND ถือเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมที่เราได้มีการระดมสมองตั้งแต่ได้รับโจทย์จากกรมสุขภาพจิตที่ต้องการเครื่องมือช่วยคัดกรองภาวะซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพสามารถจัดแบ่งความรุนแรงได้ตรงเพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลที่เหมาะสมกับแต่ละคน

      ศ. ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนำ AI มาช่วยในการพัฒนาบริการทางการแพทย์ยุคใหม่ ถือเป็นแนวโน้มที่สำคัญแห่งอนาคต เพื่อที่จะสร้างบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง เข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึง ด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การที่จะนำ AI มาใช้งานจริงในด้านการแพทย์ อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทำงานร่วมกันขององค์กรต่างๆเพื่อให้เกิดระบบนิเวศ หรือ ecosystems ที่ครบวงจร ตั้งแต่ ในส่วนต้นน้ำคือการทำงานร่วมกันระหว่างทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ และทีมวิจัยด้าน AI ในส่วนกลางน้ำคือทีมพัฒนาและสนับสนุนระบบงาน และในส่วนปลายน้ำคือหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่นำระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นไปใช้ประโยชน์ในการดูแลคนไทยที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพ รวมไปถึง หน่วยงานที่ดูแลคนไทยในด้านสิทธิการเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งกิจกรรมนี้ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความแม่นยำในการประเมิน รวมไปถึงการรองรับผู้ใช้จำนวนมาก แล้วส่งต่อให้เกิดการนำไปสู่การใช้งานจริงของส่วนปลายน้ำ โดยทีมสายด่วนของกรมสุขภาพจิต และ Hope Task Force มีการสนับสนุนสิทธิรักษาพยาบาลจากทาง สปสช. จะเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่มี ecosystems ที่ต่อเนื่องและครบถ้วนแบบนี้ DMIND จะไม่สามารถสร้างคุณค่าที่เกิดประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้างได้อย่างเต็มที่


15 มีนาคม 2567