press 200465

 

กรมสุขภาพจิต ชื่นชมผู้สูงอายุมีทักษะการสร้างสุข สามารถปรับกายและปรับใจ ได้เป็นอย่างดีในสถานการณ์โควิด-19 ผลสำรวจชี้ชัด “ผู้สูงวัยหัวใจยังแข็งแรง” 

          วันนี้ (21 เมษายน 2565) กรมสุขภาพจิต เปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่ามีความเข้มแข็งทางใจ มีความสุขและสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้มากขึ้น

          แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
ที่ต่อเนื่องและยาวนาน ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ผู้สูงอายุยังคงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างสูงจากการเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย การมีอัตราเสียชีวิตมากกว่าวัยอื่นๆ  การที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเดิม ตั้งแต่การต้องรักษาระยะห่างจากครอบครัว เพื่อน คนใกล้ชิด และไม่สามารถไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อรักษาโรคประจำตัวสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจิตผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้สถานการณ์ในประเทศจะยังคงมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ทว่ามีข้อค้นพบที่สำคัญจากการสำรวจถึงความเข้มแข็งทางใจของผู้สูงอายุในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งจากผลการสำรวจข้อมูลในผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงผ่านทางระบบ Mental Health Check In ของกรมสุขภาพจิต จำนวน 45,453 ราย พบว่า ผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียงร้อยละ 77.26 มีพลังใจในระดับมาก ร้อยละ 82.26 รู้สึกมีกำลังใจเมื่อได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง และร้อยละ 80.9 สามารถจัดการกับปัญหาและความเครียดของตนเองได้ แสดงให้เห็นได้ว่าแม้ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวได้ และยังคงมีสุขภาพจิตที่ดี

          แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า ผลจากการสำรวจพบว่ามากกว่า        ร้อยละ 80 ที่ผู้สูงอายุรู้สึกมีกำลังใจเมื่อได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง นั่นหมายถึง การที่ผู้สูงอายุได้รับการดูแลเอาใจใส่โดยเฉพาะจากบุคคลในครอบครัว ลูกหลาน ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือคนในชุมชน ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีกำลังใจมากขึ้น กรมสุขภาพจิต มีการดำเนินงานดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ครอบคลุมทั้งกลุ่มติดสังคม ติดบ้าน และติดเตียง โดยมีโปรแกรมการสร้างสุข 5 มิติ ซึ่งประกอบด้วย 1. สุขสบาย 2. สุขสนุก 3. สุขสง่า 4. สุขสว่าง 5. สุขสงบ ให้กับผู้สูงอายุที่ติดสังคม ทั้งในรูปแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม ซึ่งมีการนำไปใช้ทั้งในชมรมผู้สูงอายุ/โรงเรียนผู้สูงอายุ โดย อสม. สำหรับผู้สูงอายุ    ที่ใช้เทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ด้วยตนเองในเว็บไซต์กองส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต (กสพส.) www.sorporsor.com อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงอายุหรือสมาชิกในครอบครัวต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต สามารถขอคำปรึกษาได้ทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำคัญที่สุดในการสร้างพลังใจให้ผู้สูงอายุ คือ สัมพันธภาพในครอบครัว กรมสุขภาพจิตสนับสนุนให้ทุกคนเห็นความสำคัญ เห็นคุณค่า ชื่นชม ดูแล และให้กำลังใจ “เพราะใจที่ไม่อ่อนไหว จะนำมาซึ่งกายที่ไม่อ่อนแอ”

***************   21 เมษายน 2565