38C37630 F6E6 43F5 BA56 F307F2B53176

คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เร่งติดตามการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ในระดับจังหวัด พร้อมขยายกลไกส่งเสริมและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตาย

      วันนี้ (27 เมษายน 2565) กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิตจัดการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยมีการติดตามการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนคณะอนุกรรมการการประสานงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิตระดับจังหวัดเพื่อการดูแลสุขภาพจิตประชาชนภายใต้สถานการณ์ COVID-19 พร้อมผลักดันการเชื่อมโยงการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพจิตในทุกกลุ่มเพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการดูแลสุขภาพจิตประชาชนภายใต้สถานการณ์ COVID-19 จึงจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานในระดับจังหวัดเพื่อให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ ขณะนี้พบว่า มีจังหวัดที่ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยจำนวน 32 จังหวัด และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่จุดที่น่าเป็นห่วงคือ จังหวัดที่ยังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีจำนวนถึง 22 จังหวัด โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นจังหวัดกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการฆ่าตัวตายถึง 12 จังหวัดอีกด้วย กลไกของคณะกรรมการฯในระดับจังหวัดขอให้ความสำคัญในเป้าหมายในการดำเนินงานที่สำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่ 1. สร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจ 2. ลดอัตราการฆ่าตัวตาย 3. ประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากสถานการณ์ COVID-19 4. ผู้ป่วย Long Covid-19 และ 5.ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะสำเร็จได้ต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงขอเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการติดตามจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯให้ครอบคลุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการฆ่าตัวตายโดยเร็วต่อไป

      แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าแม้สถานการณ์โควิด19 จะทำให้คนไทยมีความเครียดสูง แต่จากติดตามพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จยังคงอยู่ที่ 7.8 คนต่อแสนประชากร ทั้งนี้รายงานจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จในระหว่างปี 2560 – 2564 พบว่าแนวโน้มที่สูงขึ้นคือกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวกรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจถึงความต้องการในการดูแลช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตนักศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พบข้อมูลที่น่าสนใจถึงความต้องการของวัยรุ่นเหล่านั้นว่า ต้องการให้มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถาบันเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในมหาวิทยาลัย การคัดกรอง เครื่องมือประเมิน การให้คำปรึกษาช่องทางต่างๆ ที่สะดวก การดูแลช่วยเหลือติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ยังต้องการให้สถานศึกษาสามารถประสานกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ได้รับการสนับสนุนนโยบาย งบประมาณและแหล่งทุน ท้ายที่สุดคือการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาด้านสุขภาพจิตในมหาวิทยาลัย จากข้อคิดเห็นของนักศึกษาเหล่านี้เป็นโอกาสในการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในนักเรียนนักศึกษา สู่การเป็นคู่เครือข่ายดูแลจิตใจสู่การเป็นคนไทยคุณภาพ โดยความร่วมมือของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป

     นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีมติมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้ร่วมกับกองทุนด้านสุขภาพ ได้พิจารณากลไกการสนับสนุนบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกลไกของพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ต่อไป

*** 27 เมษายน 2565