press 300465

 

 

รองนายกฯ และ รมว. สาธารณสุข อนุทิน ส่งกำลังใจถึงผู้ใช้แรงงาน ย้ำ “ฟ้าหลังฝนมีความสดใสเสมอ” มอบนโยบายส่งเสริมสวัสดิภาพลูกจ้าง ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิตและสุขภาวะทางเศรษฐกิจ      

          วันนี้ (1 พฤษภาคม 2565) กระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายสนับสนุนสวัสดิภาพลูกจ้างเพื่อเป็นการยกระดับพื้นฐานคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงาน เผยมั่นใจโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทยจะมีมากขึ้นกว่าเดิม พร้อมมอบหมายให้กรมสุขภาพจิตร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนากลไกเพื่อดูแลกาย-ใจ-การเงิน ให้กับพี่น้องแรงงาน ร่วมคิดและให้คำปรึกษาเพื่อฝ่าวิกฤตการเปลี่ยนแปลงจากโควิด-19

          นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แรงงานถือเป็นกระดูกสันหลังของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” เพื่อเป็นการเชิดชูศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงาน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านสาธารณสุข ด้านคมนาคม ด้านกีฬาและการท่องเที่ยว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องต่อคุณภาพชีวิตและสวัสดิภาพของพี่น้องแรงงานไทย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่ต่อเนื่องมากว่าสองปี จะดำเนินการเพื่อทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนสถานะโรคระบาดโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น เพื่อส่งผลให้ผู้ประกอบการและสภาพเศรษฐกิจได้พลิกฟื้นกลับมาอย่างเต็มที่ เพราะนอกจากประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางสาธารณสุขเป็นลำดับต้นๆของโลกแล้วนั้น แรงงานไทยยังมีความพร้อมและมีต้นทุนทางศักยภาพและวัฒนธรรมแห่งจิตใจบริการที่มีอยู่อย่างโดดเด่น เป็นโอกาสทางธุรกิจมากเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในเร็วๆ นี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน เป็นจุดหมายของอุตสาหกรรมในการจัดประชุมและนิทรรศการ และเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลด้านสุขภาพอย่างครบวงจร นับว่าเป็นการสร้างโอกาส สร้างงานและสร้างรายได้ให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายได้ขานรับนโยบายไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความพร้อมในทุกๆ ด้านและสามารถดำเนินการได้ทันที

       พญ.อัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อประชาชนทั้งด้านสุขภาพ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รวมทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่นำมาสู่ภาวะหนี้สินสะสมจนเกิดความเครียด ซึมเศร้า หรือภาวะฆ่าตัวตายในบางรายที่ไม่สามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้ ซึ่งวัยแรงงานในปัจจุบันจัดเป็นกลุ่ม แซนวิชเจอเนอเรชั่น คือ ต้องเผชิญหน้าและแบกรับปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งของตนเองและครอบครัว ซึ่งช่องทางความช่วยเหลือที่จะเข้าถึงกลุ่มวัยแรงงานที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาวะทางการเงิน ยังมีน้อยมาก และหากแก้ปัญหาไม่ครอบคลุมรอบด้านก็บั่นทอนความสุขของแรงงานและครอบครัว กรมสุขภาพจิตจึงประสานความร่วมมือกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานและธนาคารแห่งประเทศไทย พัฒนา“เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม” ขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะในการดูแลให้คำปรึกษาด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงิน เพื่อช่วยเหลือแรงงานในสถานประกอบกิจการ โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมให้กับเครือข่ายนักทรัพยากรบุคคลในสถานประกอบการต้นแบบ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมทั้งยังมีแผนการที่จะขยายผลการดำเนินงานไปยัง 7 เขตสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อให้พี่น้องแรงงานไทยได้เข้าถึงการดูแลมากขึ้น

      กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิต ขอส่งความปรารถนาดีมายังพี่น้องผู้ใช้แรงงาน พร้อมสนับสนุนนายจ้างให้ช่วยกันส่งเสริมสวัสดิภาพของลูกจ้าง ทั้งทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาวะทางเศรษฐกิจ สนับสนุนสร้างทางเลือกในการสร้างสุขภาวะให้กับแรงงานไทย เพราะเรากำลังจะผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน เหมือนฟ้าหลังฝนมีความสดใสรออยู่ข้างหน้าเสมอ

                               ****************                   (1 พฤษภาคม 2565)