press 210965

 

 กรมสุขภาพจิตจัดแถลงข่าวผลการดำเนินงานโครงการ “คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ร่วมกับ สสจ.สุราษฎร์ธานี และ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี พร้อมเผยสามารถเข้าถึงและช่วยเหลือวัยรุ่นที่มีความเครียดสะสมได้กว่า 800 ราย

          วันนี้ (21 กันยายน 2565) กรมสุขภาพจิต สำนักงานสาธารณสุขจุชังหวัดสุราษฎร์ธานี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดการแถลงข่าวผลการดำเนินงาน โครงการ “คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” พบผู้มีความเครียดสูง 841 รายจากการสำรวจกว่า 2,853 คน พร้อมชี้เป้าหมายพร้อมรุดหน้าเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษาได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึงและเท่าเทียม

          แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม การเมือง การสื่อสาร ค่านิยมและโรคระบาดที่สำคัญ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงด้านการเรียน การทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด หากความเครียดที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่มากจนเกินไป ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มวัยเรียน วัยรุ่น กลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หากมีความเครียดสะสมในระดับที่มากเกินไป จะส่งผลกระทบทางต่อสุขภาพกาย ได้แก่ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดหลัง ใจสั่น และส่งผลต่อสุขภาพจิต ได้แก่ หงุดหงิด โกรธง่าย เบื่อหน่าย  คิดมาก วิตกกังวล เศร้าหมอง ไม่มีสมาธิ  รวมทั้งทางพฤติกรรม ได้แก่ เงียบขรึม เก็บตัว สูบบุหรี่ หรือดื่มสุราตลอดจนการใช้สารเสพติดตามมา บางรายมีการขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท มีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นบ่อยขึ้น และอาจเกิดพฤติกรรมรุนแรง หากมีภาวะเครียดรุนแรงมากยิ่งขึ้น ก่อให้ซึมเศร้า หรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายตามมาได้ ผลการประเมิน Mental Health Check In โดยกรมสุขภาพจิต ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา  พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 34,579 คน มีปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ คือ มีความเครียดสูงเสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าทุกกลุ่มวัย ข้อมูลจากการรายงานของสายด่วน 1323 สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ปี 2564 ระบุว่า ปัญหาที่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 11-19 ปี โทรมาขอรับคำปรึกษาสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน ปัญหาเรื่องการปรับตัว และภาวะซึมเศร้า ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้เด็กและวัยรุ่นยิ่งพบความยุ่งยากในใช้ชีวิตและการเรียน และส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตของวัยทำงานตอนต้นได้ กรมสุขภาพจิตจึงดำเนินการเชิงรุก เพื่อดูแลสุขภาพใจของวัยเรียนในสถานศึกษา ได้ลงนามประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่ง เพื่อดำเนินโครงการ "คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ"  และมีแผนที่จะขยายการช่วยเหลือไปสู่นักเรียนนักศึกษาในทุกระดับ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ  ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานีเป็นแห่งแรกที่เริ่มดำเนินการดูแลสุขภาพใจนักศึกษา โดยความร่วมมือของหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตในพื้นที่ คือ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 เชื่อมโยงการดูแลร่วมกับหน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนิคมสร้างตนเองขุนทะเล เพื่อให้นักศึกษาได้รับการดูแลต่อเนื่อง  นับเป็นความร่วมมือของเครือข่ายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อการดูแลจิตใจนักศึกษา ให้สามารถดูแลจิตใจตนเอง ปรับตัว ปรับใจในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ เพื่อก้าวสู่คนไทยคุณภาพต่อไป ดิฉันขอขอบคุณทุกความร่วมมือจากทุกองค์กร ทุกเครือข่าย กรมสุขภาพจิตจะมุ่งมั่นพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพใจนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมสร้างคนไทยคุณภาพในอนาคตต่อไป

          นายแพทย์สำเนียง  แสงสว่าง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ กรมสุขภาพจิต และกระทรวงสาธารณสุขภายใต้กิจกรรม “คู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ในการดูแลสุขภาพนักศึกษา  ซึ่งโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงในการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช และทีมการดูแลที่สามารถให้การช่วยเหลือนักศึกษาได้ นักศึกษาที่คัดกรองแล้วมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะซึมเศร้า และการทำร้ายตัวเอง  มหาวิทยาลัยสามารถประสานการดูแลและส่งต่อไปโรงพยาบาลโด้  ซึ่งโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีมีบริการทั้งแบบผู้ป่วยนอกและรับไว้รักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนิคมสร้างตนเอง (PCU) ที่สามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้นและติดตามต่อเนื่องในพื้นที่  รวมถึงการประสานข้อมูลการดูแลให้กับอาจารย์ที่ปรึกษา หรือ ศูนย์ดูแลนักศึกษาด้วยหัวใจเพื่อให้การดูแลต่อเนื่อง  หากอาการรุนแรงหรือปัญหาซับซ้อนก็สามารถส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ซึ่งเป็นระบบการดูแลช่วยเหลือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เชื่อมโยงครบวงจรคาดหวังว่าความร่วมมือกันในการดูแลจิตใจนักศึกษาครั้งนี้ จะมีการดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง  และมีคุณภาพ  ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของเครือข่ายทุกฝ่าย  เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน

         ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ทีมงานกรมสุขภาพจิต ได้มาเริ่มต้นกิจกรรมการดูแลสุขภาพใจนักศึกษา ซึ่งได้ทำ MOU ร่วมกันในปี 2563  แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 การจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาเปลี่ยนไปเป็นแบบออนไลน์ ไม่สะดวกในการดำเนินงาน เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดลดลง นักศึกษามาเรียนตามปกติ มหาวิทยาลัยจึงได้ประสานการดำเนินงานต่อเนื่องกับทีมสุขภาพจิต  โดยการนำ Mental Health Check-in มาคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตนักศึกษาในนักศึกษาทุกคณะ  เริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2565 มีนักศึกษาประเมินจำนวน 2,853 คน พบมีความเครียดสูง จำนวน 841 ราย เสี่ยงซึมเศร้า 8 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 26 ราย ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องให้การช่วยเหลือ ซึ่งได้รับความร่วมมือในการให้การดูแลนักศึกษาทางโทรศัพท์โดยทีมโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ มีนักศึกษา 6 รายที่ได้รับคำแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งมีทีมของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลต่อไป

        กรมสุขภาพจิตจะขยายการช่วยเหลือไปสู่นักเรียนนักศึกษาในทุกระดับ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งต่อไปอย่างต่อเนื่อง  เชื่อมโยงการดูแลร่วมกับหน่วยงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้นักศึกษาได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึงและเท่าเทียม         

        **************************21 กันยายน 2565