ภาพข่าว 1 10 65

 

กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยมีความเข้มแข็งทางใจพร้อมฝ่าวิกฤติอุทกภัยจากพายุโนรู แนะนำสังคมใช้หลักรู้ อยู่รอดเพื่อก้าวข้ามสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน

          วันนี้ (1 ตุลาคม 2565) กรมสุขภาพจิต เฝ้าระวังผลกระทบทางใจในผู้ประสบอุทกภัยจากพายุโนรู แนะนำสังคมใช้หลักรู้ อยู่รอดเพื่อก้าวข้ามสถานการณ์วิกฤต พร้อมประสานงานทีม MCATT ในพื้นที่เพื่อประเมินผลกระทบ และช่วยเหลือฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยในพื้นที่

นายแพทย์ธิติ  แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า แม้ว่าในขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 จะคลี่คลาย แต่ด้วยน้ำท่วมเนื่องจากพายุโนรูในหลายพื้นที่ที่เข้ามาในช่วงเวลานี้ หลายฝ่ายมีความห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยจากปัญหาเป็นอย่างมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ายินดีคือการที่พบว่า พี่น้องชาวไทยมีความเข้มแข็งทางใจมากขึ้น และระดับความเครียดลดลงอย่าง
เห็นได้ชัด ซึ่งจากข้อมูลของการสำรวจผ่านระบบ Mental Health Check In ในวันที่ 1 -30 กันยายน 2565 คนไทยมีความเครียดที่ร้อยละ 6.86 และอัตราเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 8.30  ลดลงจากในช่วง 1 – 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งความเครียดสูงถึงร้อยละ 9.22 และอัตราเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 11.30  อีกด้วย ทั้งนี้เพราะคนไทย มีความเข้มแข็งทางใจ หรือ RQ (Resilience Quotient) เพิ่มขึ้นจากการก้าวข้ามสถานการณ์ต่าง ๆ มาอย่างมีสติ พัฒนาจนเป็นศักยภาพทางอารมณ์และจิตใจในการปรับตัว และฟื้นตัวภายหลังเหตุการณ์วิกฤติ หรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความยากลำบาก อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะช่วยให้บุคคลผ่านพ้นปัญหาอุปสรรค และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขในระยะยาว

          นายแพทย์ธิติ  กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่จะเน้นย้ำกับทุกฝ่ายคือการเกิดอุทกภัยในครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสูญเสียทรัพย์สินและการเจ็บป่วยทางร่างกาย สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ประสบเหตุอีกด้วย ภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วยและทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตรวมถึงด้านอารมณ์นำพาไปสู่โรคภาวะทางจิตและพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายได้ ในสถานการณ์เร่งด่วนเช่นนี้สิ่งที่สังคมจะช่วยกันได้อย่างดีอีกประการคือการนำหลัก D-M-H-T-T คือเพื่อเป็นการป้องกันโควิด-19 และลดโอกาสการนำเชื้อกลับมาติดสู่คนในครอบครัวที่เรารัก อันจจะนำความเครียดมาบั่นทอนให้พลังใจลดลง โดย D : Social Distancing เว้นระยะห่าง
เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด M : Mask Wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย H : Hand Washing ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์และT : Testing การตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในกรณีที่มีอาการเข้าข่าย การดูแลตนเองด้วยหลักการนี้นอกจากจะช่วยให้สุขภาพทางกายปลอดภัย ยังเป็นเกราะที่จะช่วยให้ไม่เกิดปัญหาที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตต่อไปอีกด้วย

          แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลักรู้ อยู่รอดเพื่อก้าวข้ามสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน โดยการที่เราจะเป็นผู้รู้ อยู่รอด สามารถนำหลักการของวัคซีนใจในชุมชนมาปรับใช้ โดย การเป็นผู้รู้ คือ การรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และเรียนรู้ในการรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ และการอยู่รอด คือการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องประกอบด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ การให้โอกาสและสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน อย่างไรก็ตามเมื่อตนเองสามารถรู้ อยู่รอดแล้วก็อย่างลืมแบ่งปันน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนอย่างหนัก รวมถึงกลุ่มเปราะบางในสังคม อันได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยจิตเวชเป็นลำดับแรก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งทางกายและทางใจจนทรุดลง กรมสุขภาพจิตได้เฝ้าระวังเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการประสานงานไปยังทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ในพื้นที่ เพื่อประเมินผลกระทบ รวมติดตามผลดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยต่อไปอีกด้วย

กรมสุขภาพจิต ขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายเร่งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและบริการในชุมชนให้กลับมาทำงานได้ตามปกติภายใต้ความปลอดภัย รวมถึงจัดสวัสดิการให้กับผู้ได้รับผลกระทบเพื่อสร้างพลังใจเพื่อช่วยให้คนในสังคมรู้สึกปลอดภัยและดำเนินชีวิตได้ดังเช่นปกติ และหากประชาชนและในครอบครัวที่ประสบภัย มีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความรู้สึกของอย่างรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและขอคำปรึกษา พูดคุยกับผู้ที่สามารถรับฟังปัญหาของเราได้ หากพบปัญหาต้องการเข้ารับการรักษา สามารถติดต่อได้ที่ Line Application Smile Connect หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

           **************************        1 ตุลาคม 2565