ภาพข่าว 4 10 65

 

 

กรมสุขภาพจิต ชวนประชาชนสำรวจตัวเอง ไม่ปล่อยใจไปกับความโกรธจนเป็นการเติมความรุนแรงในสังคม พร้อมวอนสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์ เพื่อไม่ให้เหตุรุนแรงเป็นเรื่องปกติของสังคม

          วันนี้ (4 ตุลาคม 2565) จากข่าวสะเทือนขวัญการก่อเหตุฆ่าหั่นศพหญิงสาว โดยผู้ต้องสงสัยสารภาพว่าได้วางแผนและเลียนแบบวิธีการฆ่าหั่นศพจากภาพยนตร์ กรมสุขภาพจิต ชี้หากมีปัญหาขัดแย้งอย่าเก็บไว้ เพราะอาจนำไปสู่การก่อเกิดเหตุความรุนแรง พร้อมวอนสื่อนำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติของสังคม

          แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับสังคมว่าจะเกิดกรณีเลียนแบบเช่นนี้อีก ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องนี้ต้องอาศัยกลไกทางกฎหมายร่วมกับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์หาสาเหตุเบื้องลึกในการก่อเหตุ แต่ถ้าหากผลวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า ผู้ก่อเหตุระบุว่าเลียนแบบจากหนังหรืออื่นๆ และผ่านการวางแผนมาแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่โหดร้ายของผู้กระทำ ซึ่งอาจจะมีรายอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ในสังคมก็อาจจะเกิดการเลียนแบบได้ทันที  หากสิ่งที่ชี้นำสอดคล้องกับความประสงค์ของตนเอง แต่การเลียนแบบจะค่อยๆ สะสมในสิ่งที่ตรงกับจิตใต้สำนึกของตัวเอง ฉะนั้นสิ่งที่จะขอให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหาความโกรธ เคือง โมโห หรือเจ็บแค้น อย่ารอให้ตัวเองเริ่มรู้สึกไม่ไหวแล้วค่อยแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง แต่ขอให้ค่อยๆ ดูแลใจตนเองด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดพื้นฐานทางจิตใจที่ผลักดันให้เกิดการกระทำความรุนแรง

          แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่ออีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจในการนำเสนอของสื่อ ภาพยนตร์ หรือ สื่ออื่นๆ ที่ติดกับความรุนแรงและนำเสนออย่างละเอียด ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง หากนำเสนอความรุนแรงออกมามากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดความเคยชินกับสิ่งที่เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น ดังนั้นการนำเสนอควรสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ผู้ก่อเหตุและสังคม ในขณะเดียวกัน การนำเสนอความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก หากคนที่เลือกเสพมีอารมณ์ด้านลบอยู่แล้ว ปรารถนาความรุนแรง ก็จะเท่ากับเป็นการเติมเชื้อความรุนแรงในใจเขามากขึ้นซึ่งเป็นวงจรที่เลวร้าย ดังนั้นสังคมควรช่วยกันมองในกลไกของสื่อและประชาชนก็สามารถร่วมเป็นสื่อได้เองด้วย อาจทำให้ความก้าวร้าวเป็นบรรทัดฐานของสังคมที่ไม่ดีและที่สำคัญทุกคนต้องสำรวจตัวเองไม่ปล่อยใจหรือเป็นส่วนหนึ่งในการเติมความรุนแรงในสังคม เมื่อถามถึงบทบาทของกรมสุขภาพจิตในเหตุการณ์ดังกล่าวในการป้องกันการเลียนแบบ กรมสุขภาพจิตมีกลไกลคัดกรองปัญหาความก้าวร้าวรุนแรงให้คนในชุมชน คอยสังเกต เฝ้าระวัง สัญญาณเตือนในชุมชนนั้นๆ ซึ่งสังคมชนบททำได้ง่ายกว่าเพราะมีกลไก อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ไปจนถึงกลไกผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness with high risk to Violence : SMI-V)

          ฝากถึงทุกคนที่เริ่มเกิดปัญหาความขัดแย้ง อย่ารีรอ ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือหาทางออกที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้กรณีที่
คนกระทำความรุนแรงมักอ้างว่าตนเองเจ็บป่วยทางจิตนั้น ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการกระทำความรุนแรง แต่ถ้าหากเป็นผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุความรุนแรงขึ้นก็ต้องรับโทษทางกฎหมายและต้องได้รับการบำบัดรักษาควบคู่กัน ดังนั้นจึงไม่สามารถเอาความเจ็บป่วยทางจิตเป็นข้ออ้างในการก่อความรุนแรง จากที่ผ่านมาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแล้วรอดชีวิต อาจเกิดบาดแผลทางใจ เกิดความแค้น ความเจ็บปวดซึ่งอาจบ่มเพาะความรุนแรงและอาจก่อความรุนแรงในอนาคตได้ หากผู้ที่ต้องการเยียวยาจิตใจเข้า
ไม่ถึงบริการก็สามารถติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อไม่ให้เกิดผลทางจิตใปสู่วิกฤตที่เลวร้ายในสังคม

           **************************      4 ตุลาคม 2565