Press 191065 2

 

 

กรมสุขภาพจิตขอบคุณเครือข่ายร่วมคืนรอยยิ้มสู่ชุมชนหลังเหตุการณ์ความรุนแรง เผยทีมปฏิบัติการเยียวยาจิตใจเร่งช่วยเหลือทุกกลุ่มในจังหวัดหนองบัวลำภูอย่างต่อเนื่อง รายงานล่าสุดสามารถช่วยเหลือได้ถึงร้อยละ 97 ชื่นชมชุมชนเข้มแข็งและร่วมเตรียมการเพื่อก้าวผ่านไปพร้อมกัน

           วันนี้ (19 ตุลาคม 2565) กรมสุขภาพจิตรายงานผลการเยียวยาจิตใจในระยะที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู พบว่า จากการทำงานเชิงรุก เดินเท้าเข้าช่วยเหลือถึงหน้าประตูบ้าน ทำให้สามารถเข้าถึงดูแลช่วยเหลือได้มากขึ้น และพบว่าชุมชนมีความเข้มแข็งสูงพร้อมวางแผนขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อเยียวยาจิตใจในระยะฟื้นฟูจิตใจ

           แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมทีมปฏิบัติการ MCATT กรมสุขภาพจิตได้หารือและออกเยี่ยมเยียนพื้นที่ประสบเหตุการณ์ความรุนแรงร่วมกับนายแพทย์ประวิตร  ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและแกนนำสาธารณสุข โดยความร่วมมือกับชุมชนได้แสดงให้เห็นถึงพลังใจที่ยังเข้มแข็งและมีความร่วมมือช่วยกันในการเตรียมการช่วยเหลือดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มให้ก้าวผ่านพ้นความเสียใจไปด้วยกัน ทั้งนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิตได้แสดงความขอบคุณต่อเครือข่ายต่างๆ ที่ได้ร่วมกันเตรียมความพร้อมในการดำเนินการสร้างวัคซีนใจเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในชุมชนในระยะฟื้นฟูจิตใจ โดยในช่วงวันที่ 16 – 18 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ ได้มีการจัดกิจกรรมจากเครือข่าย เล่น สร้าง สุข จากทีมไม้ขีดไฟ​และสถาบันไทเลยเพื่อการพัฒนา จากกลุ่มก่อการดีเลย​ มาร่วมจัดกิจกรรมเล่น สร้าง สุข ให้กับเด็กในพื้นที่ได้มีรอยยิ้มความสุขเกิดขึ้น นอกจากนี้สิ่งที่พบตลอดการจัดกิจกรรมคือความงดงามจากบรรยากาศการช่วยเหลือในชุมชนเพื่อเยียวยา ทั้งจากเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)ได้ร่วมสนับสนุนการจัดอาหารว่างและเครื่องดื่มสำหรับเด็กและครอบครัวของคนในชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม และมีแผนการนำ รถเพื่อนใจและอาสาสมัครอื่นๆ เข้าในพื้นที่เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่เข้มแข็งในพื้นที่ต่อไป

          แพทย์หญิงจุฬาพันธุ์  เหมกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์ กล่าวว่า จากการรายงานผลการปฏิบัติงานของทีม (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ในกลุ่ม A หรือกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อันได้แก่ ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต ญาติใกล้ชิดผู้เสียชีวิต จากจำนวนเป้าหมายจำนวน 345 คน สามารถเยียวยาจิตใจได้ถึง 336 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 97.39 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเกิดจากการทำงานในระยะติดตาม ภายใน 2 สัปดาห์ (9 – 20 ตุลาคม 2565) โดยทีม MCATT ดำเนินการติดตามช่วยเหลือเยียวยาจิตใจอย่างเต็มที่ต่อเนื่องตลอดทั้งวันในสองสัปดาห์แรกนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 3 กลุ่มมีสุขภาพจิตดีขึ้นและไม่เกิดปัญหาสุขภาพจิตระยะยาว ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตได้ระดมทีม MCATT ในหลายส่วนภูมิภาคเข้าสมทบเพื่อปฏิบัติงานร่วมกับทีมเยียวยาของพื้นที่ มีการวางแผนฟื้นฟูเยียวยาระยะยาว และจัดทำชุดข้อมูลในการลงพื้นที่เยียวยาจิตใจ สามารถระบุตัวตนของผู้ประสบเหตุและครอบครัวในแผนที่เดินดิน/แผนที่บ้าน มีประวัติการรักษาปัจจุบัน การบริการการปฐมพยาบาลทางใจแก่ผู้ประสบเหตุทุกราย รวมทั้งการวางแผนการบริหารจัดการรายบุคคล (Case management) แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และการวางแผนทำกลุ่มกิจกรรมบำบัดในกลุ่มเด็กนักเรียน 2 โรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่เกิดเหตุอีกด้วย โดยมีเป้าหมายของการเยียวยาจิตใจให้สามารถรับมือจากการสูญเสียครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปได้

           นายแพทย์ศักรินทร์ แก้วเฮ้า ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การวางแผนการดูแลเด็กและครอบครัวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในระยะยาว ทั้งนี้ประเด็นสำคัญต่อจากนี้คือการทำให้เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งแผนระยะติดตามการดูแลเด็กและผู้ประสบเหตุในระยะสองสัปดาห์ถึงสามเดือนจะใช้กลยุทธ์สองรูปแบบ โดยกลยุทธ์แรกคือการป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตเวช โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องคือ การดูแลจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และระบบบริหารจัดการดูแลส่งต่อกรณีที่มีความซับซ้อนเพื่อทำการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ กลยุทธ์ที่สองจะเป็นเรื่องของการสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนกลับคืนสู่ปกติสุข โดยมี 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการเล่นสร้างสุขสำหรับเด็กๆ กิจกรรมกลุ่มเพื่อเตรียมความพร้อมของครูและนักเรียนสำหรับการเปิดเทอม และกิจกรรมที่ 3 เป็นการดำเนินการช่วยเหลือให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสามารถกลับสู่บทบาทหน้าที่เดิมได้โดยความพร้อมของทุกฝ่ายให้เร็วที่สุด

 

             ***********************                19 ตุลาคม 2565