Press 011165

 

กรมสุขภาพจิต Kick of งานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2565 พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนร่วม“วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” ช่วยลดปัญหาการฆ่าตัวตายได้

         วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2565) กรมสุขภาพจิต เน้นย้ำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการวัดใจ เพื่อรู้เท่าทันถึงปัญหาและนำไปสู่การแก้ไข พร้อมบูรณาการเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วม เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยและมีความสุข 
         นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนไทย ภายใต้วลีที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” จึงผลักดันและส่งเสริมให้มีการประเมินสุขภาพจิต รวมไปถึงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพจิต ซึ่งการดำเนินกิจกรรม Kick off งานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2565 ในปีนี้มีแนวคิดที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าวด้วยการเชิญชวนให้ทุกคนร่วม “วัดใจ เติมพลัง สังคมมีสุข” รวมไปถึงการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมองค์ความรู้ทุกระดับผ่านการเพิ่มพูนความรู้ด้วยการ “เติมพลัง” ทุกวัยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งผู้ที่วัดใจและเติมพลังได้อย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยเหลือดูแลตนเองและคนรอบข้างได้ นำไปสู่การสร้าง “สังคมมีสุข” อย่างยั่งยืนต่อไป
         แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในปีนี้กรมสุขภาพจิตสนับสนุนให้ทุกพื้นที่ร่วมวัดใจ ผ่านทาง www.วัดใจ.com หรือ MENTAL HEALTH CHECK IN เพราะการวัดใจเป็นการตั้งคำถามกับตนเองว่ายังไหวไหม ใจสู้หรือเปล่า เพราะนอกจากจะเป็นการดูแลสุขภาพจิตในระดับบุคคล ยังเป็นการตรวจสอบสัญญาณเตือนความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อป้องกันและจัดการให้กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้มีเพียงแค่โรคทางจิตเวชเท่านั้น ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางใจ อันจะนำไปสู่ความเครียดและก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมได้ การรู้เท่าทันและสามารถค้นพบปัญหาได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถทำให้เราหาวิธีการเพื่อช่วยเหลือและป้องกันได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งการพัฒนาความเข้มแข็งทางใจหรือ Resilience เพื่อให้เกิดพลังแห่ง อึด ฮึด สู้ ด้วยตนเองสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปการช่วยเหลือและสร้างองค์ความรู้ที่มีความยั่งยืนจากความต้องการของบริบททางสังคม จะนำไปสู่การสรางสังคมที่มีความสุขอย่างแท้จริง 
          ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ส่งเสริมการเป็นวิศวกรสังคมของนักศึกษาในทุกมิติ โดยการเป็นต้นแบบขยายผลไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ให้ครอบคลุม เพื่อหาแนวทางและความต้องการที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหา การส่งเสริมให้วิศวกรสังคม รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล การรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ของตนเองและคนรอบข้างจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิต การร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตด้วยการคัดกรองสุขภาพใจด้วยแอพลิเคชั่น MCHI (Mental Health CHECK-IN) ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งสามารถช่วยนักศึกษาที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองได้ไม่ต่ำกว่า 30 ราย มหาวิทยาลัยจะดำเนินการผลักดันให้อาจารย์นำหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” มาเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต และเรียนรู้การแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมอย่างยั่งยืนต่อไป 
         กรมสุขภาพจิต ขอให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต เพราะในปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย การป้องกันที่มีประสิทธิผลคือการให้ทุกภาคส่วนทำหน้าที่และส่งเสริมบทบาทให้แก่กัน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือเรื่องของการสร้างพลเมืองคุณภาพด้วยการร่วมวัดใจ เติมพลัง และสร้างสังคมมีสุข
 
*******************
1 พฤศจิกายน 2565