Press 120267 01

 

 

กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สสส และภาคีเครือข่าย ร่วมบูรณาการพัฒนาหลักสูตรและการดำเนินการบ่มเพาะ เร่งรัดนวัตกรสู่ความยั่งยืนทางสุขภาพจิต

            วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2567) กรมสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. (สำนัก 2) สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ภายใต้ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันโค้ชไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) พัฒนาหลักสูตรและการดำเนินการบ่มเพาะเร่งรัดนวัตกรสู่ความยั่งยืนทางสุขภาพจิต

            นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในสังคม หัวใจหลักคือการเข้าใจปัญหา และข้อมูลเชิงลึก โดยกรมสุขภาพจิตจะนำข้อมูล ประสบการณ์ และกระบวนการทำงานมาออกแบบหลักสูตร ร่วมกับ ThaiHealth Academy สร้างโอกาสพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพจิต ทำให้ระบบนิเวศด้านนวัตกรรมสุขภาพจิตเกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เป็นรากฐานสำคัญในการรับมือปัญหาสุขภาพจิตในสังคมไทย ให้ผู้ที่เข้าร่วมไม่เพียงแต่มีความรอบรู้ แต่นำความรอบรู้ไปสร้างเป็นนวัตกรรมที่จับต้องได้ ขยายผลลัพธ์และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างหันมาสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตด้วยกัน ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในสังคมนั้น หัวใจหลักที่สำคัญคือการเข้าใจปัญหาและข้อมูลเชิงลึกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

           แพทย์หญิงมธุรดา  สุวรรณโพธิ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากนโยบายในการสนับสนุนโดยท่านอธิบดีกรมสุขภาพจิตการสร้างนวัตกรรมจะไม่เป็นระยะสั้น หรือเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่การพัฒนาตั้งแต่ฐานราก คือมองไปถึงการสร้างนวัตกรรมแบบยั่งยืน โดยพัฒนาตั้งแต่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการคิด การสร้างนวัตกรรม และหนุนเสริมให้ประชาชนที่สนใจก็มีความรอบรู้ในการสร้างนวัตกรรมสุขภาพจิตด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้นวัตกรรมด้านสุขภาพจิตเกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั่วประเทศ

           นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2564 พบผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีผู้ป่วยเพียง 1.3 ล้านคน สสส. มีเป้าหมายให้คนในสังคมมีสุขภาพจิตดี สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติฉบับที่ 1 มุ่งเน้นการสร้างเสริม และป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ก่อนที่จะเจ็บป่วย ซึ่งความร่วมมือ MOU ครั้งนี้เป็นมิติใหม่ด้านสุขภาพจิต สสส. โดย ThaiHealth Academy ออกแบบหลักสูตรในโครงการบ่มเพาะนวัตกรด้านสุขภาพจิต 4 หลักสูตร อบรมด้วยกระบวนการคิดแก้ไขปัญหา (Design Thinking) นำแนวคิดสร้างให้เกิดประโยชน์ (Service Design) ทักษะเป็นผู้ฟังที่ดี (Active Listening) ทักษะทางการคิด (Cognitive Skills) เครื่องมือเจาะใจลูกค้า (Empathy) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจสร้างนวัตกรรมสุขภาพจิต ถือเป็นการสร้างเครือข่ายนวัตกร ร่วมพัฒนาศักยภาพ สร้างทักษะกระบวนการ คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ออกแบบนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ปัญหาด้านสุขภาพจิต ผู้เข้าร่วมอบรมมีโอกาสนำเสนอนวัตกรรมที่ออกแบบ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปขยายผลใช้ได้จริง

            ศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการ ThaiHealth Academy กล่าวว่า นวัตกรด้านสุขภาพจิต คือ บุคคลที่มีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายที่จะแสวงหาวิธีการส่งเสริมสุขภาพจิต รวมตัวกันขึ้นมาเป็นทีมพัฒนานวัตกรรม และสมัครเข้าร่วมในโครงการ ทั้งนี้มีผู้ผ่านการคัดเลือกกว่า 60 คน โดย ThaiHealth Academy ได้ร่วมสร้างหลักสูตรที่โดดเด่นถึง 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรกระบวนกรนวัตกรรมสุขภาพจิต (MIND Navigator), หลักสูตรพื้นฐานนวัตกรสุขภาพจิต (Into the MIND), หลักสูตรบ่มเพาะนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (MIND to the MOONs) และหลักสูตรที่ปรึกษานวัตกรรมสุขภาพจิต (MIND Supervisor) เป็นกระบวนการพัฒนาเชิงนวัตกรรมสุขภาพจิต
โดยหน่วยงานที่ร่วม MOU ครั้งนี้ เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และการพัฒนาเทคโนโลยีสร้างนวัตกรรม รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพ มาร่วมเสริมทัพทีมวิทยากรตลอดโครงการ ผู้เข้าร่วมจะได้ฝึกประสบการณ์ตรงเป็นนวัตกรสุขภาพจิตในรูปแบบ Workshop และ Job Training แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภาคีเครือข่าย โดยระยะเวลาอบรมทั้งสิ้น 6 เดือน

            จากความร่วมมือนี้จะสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการเร่งรัดและเพาะบ่มการสร้างนวัตกรรมสุขภาพจิตถึง 4 หลักสูตรโดยจะมีคำว่า MIND อยู่ในทุกหลักสูตร โดย MIND นอกจากจะหมายถึงจิตใจแล้ว ยังเป็นตัวย่อของคำว่า Mental Health Innovative Development หรือการพัฒนาเชิงนวัตกรรมสุขภาพจิต อีกด้วย

             *******************************                  

             12 กุมภาพันธ์ 2567